การทำ IF คืออะไร? เคยได้ยินคนพูดถึงบ่อยๆ ในช่วงเวลาที่ต้องการลดน้ำหนัก และน้ำหนักจะสามารถลดลงได้อย่างไร ต้องทำนานแค่ไหนหรือมี ผลดี ผลเสียอย่างไรกินอะไรได้บ้าง แล้วทำ if กี่วันถึงจะเห็นผล วันนี้ Fit.Friend จะมาตอบคำถามคาใจของทุกเอง
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
- ทํา IF คืออะไร
- ตารางทํา IF มีกี่แบบ
- ทำไมการทำ IF ถึงสามารถลดน้ำหนักได้
- ระหว่าง ทำ IF กินอะไรได้บ้าง
- ทำไมทํา IF แล้วน้ำหนักไม่ลด
- ทํา IF กินกาแฟดําได้ไหม
- ทํา IF กี่วันเห็นผล
- ข้อเสียของการทำ IF
- สรุป
ทํา IF คืออะไร?
การทำ IF หรือ Intermittent Fasting คือการอดอาหาร หรืองดกินอาหารในช่วงเวลาแต่ละวันนั่นเอง โดยหลักๆแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ “ช่วงกิน” และ “ช่วงอด” โดยปัจจุบันมีวิธีการทำ IF ในหลากหลายรูปแบบ สามารถเลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
ตารางทํา IF มีกี่แบบ?
ตารางทำ IF หลักๆตามสากลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกจะแบ่งเป็น 4 แบบใหญ่ๆ ได้แก่
1. การงดกินอาหารแบบจำกัดช่วงเวลา
ตารางทำ IF ที่หลายคนคุ้นหูคือ การทำ IF แบบ 16:8 ซึ่งเป็นการทำ IF ที่เหมาะสำหรับมือใหม่ที่สุดเพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่ง่ายต่อการที่ต้องงดอาหาร และกินอาหารนั่นเอง
ยกตัวอย่าง เช่น ภายในหนึ่งวันจะกินอาหารได้ 8 ชั่วโมง และหลังจากนั้นต้องงดอาหารอีก 16 ชั่วโมง
โดยช่วงเวลาที่คนนิยมทำ IF มากที่สุด คือ ช่วงเวลา 11 โมง ไปจนถึง 1 ทุ่ม หรือช่วงเวลาตั้งแต่เที่ยง ไปจนถึง 2 ทุ่ม และหลังจากช่วงเวลานั้นก็งดกินอาหารจนกว่าจะครบ 16 ชั่วโมง ตามกำหนดเวลา
นอกจาก 16:8 แล้ว ยังมีการจำกัดช่วงเวลาอีกหลายรูปแบบ เช่น
- ทำ IF แบบ 12:12 (กิน 12 ชั่วโมง / งด 12 ชั่วโมง)
- ทำ IF แบบ 5:19 (กิน 5 ชั่วโมง / งด 19 ชั่วโมง)
- ทำ IF แบบ 4:20 (กิน 4 ชั่วโมง / งด 20 ชั่วโมง)
2. การงดกินอาหารแบบวันเว้นวัน
การงดกินอาหารแบบวันเว้นวันคือ การทำ IF แบบกินอาหารปกติ สลับกับการงดอาหารไปแต่ละสัปดาห์ เช่น วันจันทร์สามารถกินอาหารได้ปกติ และวันอังคารงดกินอาหาร สลับกันไปเรื่อยๆ มีข้อแม้ว่าภายในวันที่งดนั้น ควรกินอาหารให้ถึง 500 แคลอรี เพื่อรักษาระบบการเผาผลาญ
3. การงดกินอาหารแบบ 5:2
การงดกินอาหารแบบ 5:2 คือ การกินอาหารปกติ 5 วัน และงดกินอาหาร 2 วัน สามารถเลือกวันที่จะงดได้ เช่น ทั้งสัปดาห์จะงดกินอาหารเฉพาะวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
โดยมีข้อแม้ว่าภายใน 2 วันที่งดนั้น ต้องกินอาหารรวมกันให้ได้ 500 แคลอรี เช่น วันอังคารกิน 250 แคลอรี และวันพฤหัสบดีกินอีก 250 แคลอรี เพื่อรักษาระบบการเผาผลาญของร่างกายเช่นกัน
4. การงดทานอาหารแบบทั้งวัน
การงดทานอาหารแบบทั้งวัน คือการทำ IF งดกินอาหารให้ครบ 24 ชั่วโมง เช่น งดกินอาหารตอน 12.00 น. ของวันนี้ ไปจนถึง 12.00 น. ของอีกวัน
ข้อแม้ไม่ควรทำเกิน 1 – 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะเป็นวิธีทำ IF ที่มีผลเสียทางสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากร่างกายอาจขาดพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ ส่งผลต่ออารมณ์หรือสร้างความหงุดหงิด ขาดสมาธิ หน้ามืด
ทำไมทำ IF สามารถลดน้ำหนักได้?
เพราะช่วงเวลาที่เรากินอาหารเข้าไปในร่างกาย ร่างกายจะมีปริมาณ “อินซูลินที่สูงขึ้น” โดยช่วงนี้ร่างกายจะไม่ดึงพลังงานที่สะสม(ไขมัน)ออกมาใช้ แต่จะใช้พลังงานจากแหล่งอื่นแทน หรือไม่เผาผลาญไขมัน
แต่ในทางกลับกันช่วงเวลาที่ท้องว่าง ปริมาณ “อินซูลินจะต่ำลง” ทำให้ร่างกายดึงพลังงานที่สะสม(ไขมัน)ออกมาใช้ เพราะไม่มีพลังงานจากแหล่งอื่น ทำให้ต้องดึงพลังงานจากไขมันมาเผาผลาญ ซึ่งจะทำให้สามารถลดไขมันได้ดีขึ้นในช่วงเวลาที่งดอาหารนั่นเอง
พูดง่ายๆ คือ อดอาหาร / อินซูลินลดลง / ร่างกายดึงพลังงานสะสม (ไขมัน) ออกมาใช้
ระหว่างทำ IF กินอะไรได้บ้าง?
ถึงแม้ว่าระหว่างทำ IF จะจำกัดช่วงเวลาในการกินอาหารอยู่แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถกินอะไรก็ได้ตามใจปาก ต้องเลือกอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่มีไขมันต่ำ ลดของหวาน ของมัน ของทอด ซึ่งยิ่งกินได้ดีมากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นผลลัพธ์ได้ไวยิ่งขึ้น
อาหารที่กินได้ระหว่างทำ IF
- โปรตีน : ช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อ เร่งระบบการเผาผลาญของร่างกาย ช่วยให้อยู่ท้องได้นาน เช่น ไข่ขาว อกไก่ สันในไก่ เนื้อหมูไม่ติดมัน เนื้อวัว ปลา ถั่ว
- คาร์บดี : ควรเลือกกินที่ไม่ผ่านการขัดสี หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เนื่องจากช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินที่ดี แร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย และช่วยให้อิ่มนาน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี มัน เผือก ข้าวโพด
- ไขมันดี : การกินไขมันดีอย่างพอเหมาะ จะช่วยเข้าไปไล่ไขมันเลวในร่างกาย ช่วยให้ระบบเผาผลาญดีขึ้น เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด น้ำมันมะพร้าว
- ผลไม้ : ควรกินผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ เช่น แตงโม แอปเปิล กล้วย ส้ม เบอร์รี องุ่น เมลอน แคนตาลูป
- ผักตระกูลกะหล่ำ : เพราะมีไฟเบอร์และสารอาหารสูง ช่วยให้อิ่มท้อง เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
- ผักฉ่ำน้ำ : เนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนประกอบเยอะ ทำให้อิ่มท้องง่าย ทำให้ร่างกายสดชื่น และไม่อ่อนเพลีย เช่น แตงกวา มะเขือเทศ หรือผักใบเขียวชนิดต่างๆ
- น้ำเปล่า : ช่วยให้ร่างกายรู้สึกชุ่มชื่น ไม่อ่อนเพลีย ช่วยในการทำงานของระบบในร่างกาย และเป็นเพื่อนที่ดีเวลาหิว
ทำไมทํา IF แล้วน้ำหนักไม่ลด?
สาเหตุที่ทำ IF แล้วพบปัญหาน้ำหนักไม่ลด เพราะว่าอาจจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกินอาหาร อย่างที่พูดไปข้างต้นว่า การทำ IF ไม่ใช่ว่าช่วงกินจะสามารถทานอะไรก็ได้ แต่ควรเลือกกินอาหารที่ดีและกินอย่างเหมาะสม คนที่พบปัญหาส่วนมาก อาจเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้
- การกินมากเกินไป เลือกกินอาหารที่ไม่ดี กินของมัน ของทอด
- การกินน้อยเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญพัง
- การกินหวานมากเกินไป ทำให้น้ำตาลเกิดไปกระตุ้นอินซูลิน
- นอนดึก ระบบฮอร์โมนซ่อมแซมร่างกายไม่ทัน และร่างกายจะรวนเนื่องจากการงดอาหาร
ทํา IF กินกาแฟดําได้ไหม?
ช่วงทำ IF สามารถกินกาแฟดำได้ หากเพื่อนๆ ต้องการพลังงานหรือเติมคาเฟอีนเข้าร่างกาย เพราะว่ากาแฟดำมีแคลอรี่ที่น้อย ให้พลังงานต่ำ ไม่มีน้ำตาลหรือไขมันผสมอยู่
และคาเฟอีนในกาแฟดำยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญไขมันในร่างกาย เพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน หากออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยจะทำให้ร่างกายสามารถนำไขมันสะสมไปใช้ได้มากยิ่งขึ้น
ข้อดีอื่นๆของกาแฟดำ
- ช่วยลดความเครียด : คาเฟอีนในกาแฟดำมีส่วนช่วยขยายหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาการตึงเครียดก็จะผ่อนคลายลง
- มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยชะลอวัย : เนื่องจากกาแฟดำมีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติในร่างกาย
- ช่วยในการขับถ่าย ขับพิษสะสมในร่างกาย ลดอาการบวมน้ำ : เพราะคาเฟอีนในกาแฟดำช่วยในการขับปัสสาวะ จึงขับแบคทีเรีย หรือสารพิษต่างๆ ที่สะสมร่างกายออกมานั่นเอง
- ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ : คาเฟอีนช่วยในการขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
ทํา IF กี่วันเห็นผล?
ระยะเวลาในการทำ IF ให้เห็นผล เป็นเรื่องที่หลายๆ นอยากรู้ แต่ทาง Fit.Friend ต้องบอกว่าขึ้นอยู่ร่างกายอายุ เพศ น้ำหนัก และปริมาณกล้ามเนื้อในร่างกายร่วมด้วย และหลักๆ คือการควบคุมอาหาร
หากไม่หลุดบ่อย หรือกินอาหารที่ดี ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย จะทำให้เห็นผลลัพธ์ได้ไวมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าจะให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีควรปรึกษาเทรนเนอร์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการสารอาหารของร่างกาย และการออกกำลังกายที่เหมาะสมในช่วงระหว่างการทำ IF
ข้อเสียของการทำ IF
อ่านมาถึงตรงนี้ แน่นอนว่ามีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย แต่ข้อเสียของการทำ IF เรียกได้ว่าแทบจะน้อยมาก อาจจะเป็นแค่ช่วงแรกๆ ที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย คือ
- หงุดหงิดง่าย
- พลังงานลดลง
- อ่อนเพลีย
- ขาดสมาธิ
เนื่องจากอาจขาดพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวันไป ขาดน้ำตาล สารอาหารบางอย่าง ส่งผลให้ไม่มีพลังงานไปใช้ทำงาน และอาจเกิดความหงุดหงิดทางด้านอารมณ์ได้
สรุป
การทำ IF คือ วิธีลดน้ำหนักที่จำกัดช่วงเวลาการกิน ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ สารอาหารให้ครบถ้วน และออกกำลังกายร่วมด้วย จะทำให้ร่างกายสามารถควบคุมแคลอรี่ในแต่ละวันได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ควรปรับให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของตัวเอง ไม่ควรฝืนงดกินอาหารที่มากเกินไป
ท้ายนี้อย่าลืมให้ Fit.Friend ได้ช่วยดูแล ส่งเทรนเนอร์ไปช่วยวิเคราะห์วิธีลดน้ำหนัก การกิน และการออกกำลังกายในรูปแบบที่มีความเหมาะสมกับร่างกายคุณ
อ้างอิงจาก : healthline, hopkinsmedicine