รวมคำถามยอดฮิตของ “คุณแม่มือใหม่” กับการออกกำลังกายช่วงท้องอ่อนๆ!

ออกกำลังกายคนท้อง

คุณแม่มือใหม่หลายๆคนคงมีคำถามเกี่ยวกับ การออกกำลังกายในช่วงท้องอ่อนๆ หรือไตรมาสแรกกันใช่ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็น คนท้องออกกำลังกายได้ไหม คนท้องปั่นจักรยานได้ไหม คนท้องอ่อน ๆ วิ่งได้ไหม คนท้องกระโดดเชือกได้ไหม คนท้องซิทอัพได้ไหม คนท้องเล่นโยคะได้ไหม หรือคนท้องในไตรมาสแรกควรออกกำลังกายยังไง ฯลฯ

ซึ่งโดยส่วนใหญ่คำถามเหล่านี้จะมาจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ เนื่องจากขณะที่ตั้งครรภ์ ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำได้ในตอนที่ยังไม่ท้อง พอกลายมาเป็นคนท้องแล้วก็อาจจะต้องหยุดหรืองดไป

วันนี้ Fit.Friend เลยจะมาไขข้อสงสัยต่างๆเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ที่คนท้องในช่วงไตรมาสแรกส่วนใหญ่อยากรู้ !

คนท้องอ่อนๆ ช่วงไตรมาสแรก ออกกำลังกายได้ไหม?

คนท้องในช่วงไตรมาสแรก หรือในช่วงสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 12 สามารถออกกำลังกายได้แบบเบาๆ เป็นกิจกรรมที่ไม่หนักจนอาจจะก่อให้เกิดการแท้งบุตร และยังสามารถออกกำลังกายได้ต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่สามที่เป็นระยะใกล้คลอด ถ้าไม่มีข้อห้ามใด ๆ จากแพทย์

โดยการออกกำลังกายของคนท้องในช่วงไตรมาสแรกนี้ สามารถทำได้ทั้งคนท้องที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน และคนท้องที่ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คนท้องมีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกกำลังกายของคนท้องก็ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

ออกกำลังกายคนท้อง ไตรมาสแรก

การออกกำลังกายของคนท้องที่แนะนำ

สำหรับคนท้องอ่อน ๆ ไตรมาสแรกหรือแม้แต่คนท้องที่พ้นช่วงไตรมาสแรกไปแล้ว สามารถออกกำลังกายได้ด้วยวิธีเหล่านี้

1.โยคะคนท้อง

คุณแม่หลายคนมีคำถามว่า “คนท้องเล่นโยคะได้ไหม?” ขอตอบเลยว่า โยคะ คือ การออกกำลังกายที่เหมาะมาก ๆ สำหรับคนท้อง เพราะจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายจากความกังวลที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ช่วยสร้างสมาธิ และยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดในการคลอดได้ด้วย

2.เดินเบาๆ

การเดินเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายที่สุด เหมาะสำหรับคนท้องที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย โดยจะเป็นการเดินช้า ๆ ค่อย ๆ เดิน ไม่หักโหมถึงขั้นเดินมาราธอน เอาแค่พอดี ๆ ให้เลือดลมไหลเวียน ให้มีเหงื่อออกสักหน่อย รับรองว่าคุณแม่จะสดชื่นขึ้นแน่นอน

3.ว่ายน้ำ

ว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่มีความปลอดภัยสูงสำหรับคนท้อง คุณแม่ที่ตั้งท้องแล้วน้ำหนักขึ้นเยอะมักจะถูกใจการว่ายน้ำเป็นพิเศษ เพราะน้ำจะช่วยพยุงร่างกายและลดแรงกระแทกที่จะเกิดจากการเคลื่อนไหว แถมการว่ายน้ำยังเป็นการออกกำลังกายที่ได้ครบทุกส่วนในร่างกาย

4.เต้นแอโรบิก

สำหรับคุณแม่ขาแด๊นซ์ การเต้นแอโรบิกเป็นอีกหนึ่งการออกกำลังกายที่คนท้องอ่อน ๆ สามารถทำได้ โดยเลือกเพลงที่มีจังหวะไม่เร็วจนเกินไป สามช่า ซุมบ้า ก็อยากจะขอให้งดไปก่อน และเลือกเต้นในท่าเบสิค เลี่ยงท่าที่เน้นช่วงท้อง หรือท่าที่ต้องกระโดด ทำให้ร่างกายได้รับความกระทบกระเทือน

5.ปั่นจักรยาน

สำหรับคำถามสุดฮิต “คนท้องขี่จักรยานได้ไหม” สามารถทำได้ในกรณีที่เป็น “จักรยานออกกำลังกาย” เท่านั้น! เน้นเลยว่าต้องป็นจักรยานออกกำลังกายที่ตั้งอยู่กับที่เท่านั้น เพราะมีความปลอดภัย ไม่ตกหลุมให้ร่างกายได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแน่นอน ส่วนจักรยานเสือภูเขา จักรยานแม่บ้านจ่ายตลาด ขอให้พักก่อน แต่ถ้าบ้านใครไม่มีจักรยานออกกำลังกายก็สามารถปั่นจักรยานอากาศแทนได้เช่นกัน

ข้อควรระวังสำหรับการออกกำลังกายของคนท้อง

โยคะคนท้อง

งดวิ่งและงดออกกำลังกายผาดโผน

สำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่า คนท้องอ่อน ๆ วิ่งได้ไหม หรือคนท้องกระโดดเชือกได้ไหม เราแนะนำให้หยุดก่อนเลยครับ รวมถึงการออกกำลังกายที่ผาดโผนอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากคนท้องไม่ควรออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกกับร่างกาย ทำให้ร่างกายได้รับความกระทบกระเทือน นอกจากนี้คนท้องยังมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีขนาดหน้าท้องและหน้าอกที่ใหญ่ขึ้น อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุและอาจจะส่งผลให้แท้งได้

งดออกกำลังกายทุกชนิดที่ต้องเกร็งหน้าท้อง

เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า คนท้องซิทอัพได้ไหม ก็ต้องตอบว่า “ควรงดไปก่อนครับ” เพราะจะทำให้เกิดอันตรายกับแม่และเด็กในท้องได้ รวมถึงการตีลังกา หกสูงด้วยเช่นกัน

อย่าหักโหม 

เนื่องจากคนท้องจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้นอยู่แล้ว หากออกกำลังกายหักโหมเกินไปจะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่มดลูกไม่พอ ส่งผลให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นคนท้องทุกไตรมาสไม่ควรออกกำลังกายจนชีพจรเต้นเกิน 120 ครั้ง/นาที และหากมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือมีเลือดออกบริเวณช่องคลอด ให้หยุดออกกำลังกายและรีบไปพบแพทย์ทันที

หากเป็นโรคกลุ่มเสี่ยงต้องปรึกษาแพทย์ก่อน

คุณแม่ท่านไหนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรืออยู่ในกลุ่มที่แพทย์แจ้งว่ามีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับการตั้งครรภ์ หากต้องการออกกำลังกายจริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และลูกในครรภ์

สรุป

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ไตรมาสแรกและอยากออกกำลังกาย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวดูก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายขณะออกกำลังกายควรมีเทรนเนอร์ส่วนตัวช่วยดูแลตลอดการออกกำลังกาย

และหากสนใจเทรนเนอร์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลการออกกำลังกายสำหรับคนท้อง ติดต่อ Fit.Friend ได้เลย เราพร้อมส่งเทรนเนอร์ผู้เชี่ยวชาญไปดูแลคุณ Delivery ถึงบ้าน!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *