“อาหารลดน้ำหนัก” ได้ยินคำนี้หลายคนคงคิดว่าต้องงดคาร์บ หรือกินคาร์โบไฮเดรตให้น้อยที่สุด แต่จริงๆแล้วนั้น คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลักที่สำคัญและมีประโยชน์กับร่างกายมากๆ
เราแค่ต้องเลือกให้เป็นว่าอันไหนเป็น คาร์บดี หรือคาร์บไม่ดี กินให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม คาร์โบไฮเดรตนั้นก็สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ คาร์โบไฮเดรตที่เรากำลังพูดถึงอยู่ก็คือ “คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน” หรือคาร์บเชิงซ้อน
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
- “คาร์บ” หรือคาร์โบไฮเดรต คืออะไร
- คาร์โบไฮเดรตมีประโยชน์อย่างไร
- คาร์โบไฮเดรตแบ่งออกเป็นกี่ชนิด
- คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน “คาร์บดี” มีอะไรบ้าง
- นับคาร์บยังไง ให้เหมาะกับตัวเอง
- สรุป
โดยปกติเราจะพบคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนได้ในอาหารกลุ่มข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท ผักประเภทหัว และธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
เป็นกลุ่มอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเชิงซ้อน และมีปริมาณใยอาหารสูง จึงดูดซึม และแตกตัวเป็นน้ำตาลในเลือดได้ช้ากว่ากลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว
และยังช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ขึ้นอย่างคงที่ พูดง่ายๆก็คือเป็น คาร์โบไฮเดรตที่ย่อยช้าและทำให้รู้สึกอิ่มนาน จึงเหมาะมากสำหรับอาหารลดน้ำหนัก
แต่อย่างไรก็ตามเรายังจำเป็นต้องควบคุมปริมาณการกินอาหารหมวดหมู่คาร์โบไฮเดรต หากกินมากเกินไปจะสะสมเป็นไขมันในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
“คาร์บ” หรือคาร์โบไฮเดรต คืออะไร?
คาร์โบไฮเดรต คือสารอาหารสำคัญที่ให้พลังงานหลักแก่ร่างกาย มักจะเรียกสั้นๆกันว่า “คาร์บ” คาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่จะพบในอาหารที่มาจากพืช จำพวกข้าว แป้ง ผัก ผลไม้ และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
เมื่อเรากินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบเข้าไป ร่างกายจะย่อยคาร์โบไฮเดรตเปลี่ยนน้ำตาลส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
ในขณะเดียวกันนั้น ตับอ่อนจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า “อินซูลิน” ออกมาในเลือด เพื่อนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานให้กับสมอง เซลล์เนื้อเยื่อของระบบประสาท เม็ดเลือดแดง หลอดไต และกล้ามเนื้อ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานภายในเซลล์ของร่างกาย
คาร์โบไฮเดรตมีประโยชน์อย่างไรกับร่างกาย?
- คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งของพลังงานหลัก ที่ร่างกายนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่นการเดิน การพูดคุย หรือการหายใจก็ต้องใช้พลังงานเช่นเดียวกัน โดยคาร์โบไฮเดรต 1 กรัมจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี กลูโคสเป็นแหล่งพลังงานส่วนใหญ่ที่ร่างกายใช้ ซึ่งได้จากการย่อยคาร์โบไฮเดรต
- คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานสำรองในร่างกาย กรณีที่ร่างกายของเราใช้คาร์โบไฮเดรตไม่หมดจะถูกจัดเก็บไว้ในส่วนต่างๆของร่างกาย เช่นในกล้ามเนื้อ ตับ เป็นรูปของไกลโคเจน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นไขมันเก็บไว้ใช้ภายหลัง
- คาร์โบไฮเดรตช่วยในการควบคุมน้ำหนัก การคุมปริมาณการกินคาร์โบไฮเดรตลงและกินในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดน้ำหนักที่เกินได้
- คาร์โบไฮเดรตช่วยป้องกันโรค อาหารที่มีไฟเบอร์ หรือกากใยจะช่วยป้องกันโรคบางโรคได้ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน กากใยหรือไฟเบอร์ในคาร์โบไฮเดรต จะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายแล้ว ยังช่วยชะลอการดูดซึมไขมันและน้ำตาล ถ้าเราทำควบคู่กับการออกกำลังกาย ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่กล่าวมาได้
- คาร์โบไฮเดรตช่วยในรักษาหรือคงโปรตีนไว้ในร่างกาย การได้รับพลังงานที่ไม่เพียงพอจากคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานจากโปรตีนมาใช้แทน ดังนั้นเราควรกินคาร์โบไฮเดรตให้เพียงพอ เพื่อทำให้โปรตีนในร่างกายได้นำไปใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออย่างเต็มที่
สำหรับคนที่การออกกำลังกาย คาร์โบไฮเดรตถือว่าเป็นสารอาหารที่สำคัญ เพราะคาร์โบไฮเดรตสามารถย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคส และนำไปใช้เป็นพลังงานได้เร็วที่สุด
เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดจะจัดเก็บคาร์โบไฮเดรตในรูปของ ไกลโครเจน ไว้ที่ตับ หรือกล้ามเนื้อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง ทำให้เรามีแรงในการออกกำลัง พูดง่ายๆก็คือเมื่อเรามีแรงจะทำให้การออกกำลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เห็นไหมว่าคาร์โบไฮเดรต หรือ คาร์บ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่กลับมีประโยชน์มากมาย แค่เราเลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน นอกจากจะได้รับคาร์บดีแล้วนั้นยังได้วิตามิน เกลือแร่และใยอาหารอีกด้วย
คาร์โบไฮเดรตแบ่งออกเป็นกี่ชนิด?
คาร์โบไฮเดรตในอาหารแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
1. คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว หรือ “คาร์บไม่ดี
คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (simple carbohydrate) พบในหมวดหมู่ข้าวแป้งที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว น้ำตาลในขนมหวาน น้ำหวาน และแป้งที่ผ่านการแปรรูป ใครที่กำลังลดน้ำหนักควรจะเลี่ยงการกินคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว
เพราะคาร์โบไฮเดรตชนิดนี้สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันทีที่กินเข้าไป ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นไว กินแล้วรู้สึกมีพลังงานหรือสดชื่นทำให้อยากอาหารมากขึ้น แต่ไม่อยู่ท้อง หากเรากินมากเกินไปพลังงานส่วนเกินจะจัดเก็บละสะสมเป็นไขมันส่วนในต่างๆ ได้
2. คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หรือ “คาร์บดี”
คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrates) พบในหมวดหมู่ข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี ผักประเภทหัว ผักกลุ่มที่ไม่มีแป้ง (Non-Starchy Vegetables) และธัญพืชต่างๆ คาร์บหมวดนี้มักจะไม่ผ่านการขัดสีทำให้ยังมีคุณค่าของสารอาหาร เช่น วิตามิน แร่ธาตุ เส้นใยมากกว่า ทำให้คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะมีประโยชน์ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรตจะย่อยอย่างช้า ๆ จึงเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ช้ากว่า
- ร่างกายได้รับพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่หิวง่าย
- ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่มากกว่า จึงเหมาะมากกับการลดน้ำหนัก
คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน “คาร์บดี” มีอะไรบ้าง?
ถั่ว เมล็ดพืช และพืชตระกูลถั่ว
ถั่วแดง | ถั่วชิกพี | ถั่วดำ |
ถั่วเลนทิล | ถั่วลันเตา | ถั่วงอก |
ถั่วเหลือง | ถั่วปินโต |
ข้าวและธัญพืช
บักวีต | ขนมปังโฮลวีท | ข้าวโอ๊ต |
ข้าวกล้อง | ข้าวไรซ์เบอร์ | ข้าวซ้อมมือ |
ข้าวฟ่าง | ลูกเดือย | แป้งสเปลท์ |
โรลโอ๊ต | ข้าวบาเลย์ | ข้าวสาลีคามุท |
ผลิตภัณฑ์โฮลเกรน | เส้นโฮลวีท | ข้าวโพด |
ควินัว |
ผักและผลไม้
มันเทศ | ฟักทอง | แตงโม |
กล้วย | บลูเบอร์รี่ | ราสเบอรี่ |
หัวหอม | ผักกระเจี๊ยบ | มันหวาน |
แตงกวา | ฟักบัตเตอร์นัท | มันฝรั่ง |
แครอท | สตอเบอรี่ | แรดิช |
หัวไชเท้า | บร็อคโคลี | ผักโขม |
บวบ | แอปเปิ้ล | ลูกแพร |
หน่อไม้ฝรั่ง | ลูกพรุน | ส้มโอ |
นับคาร์บยังไง ให้เหมาะกับตัวเอง?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า 1 คาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตโดย เฉลี่ย 15 – 18 กรัม (ปริมาณนี้ไม่ใช่น้ำหนักอาหาร) การนับคาร์บเป็นเทคนิคช่วยในการวางแผนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับในแต่ละวัน สำหรับคนปกติแนะนำให้กินคาร์โบไฮเดรต เฉลี่ย 3 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถลดหรือเพิ่มได้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ใช้ในแต่ละวัน
สำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก กินอาหารพลังงาน เฉลี่ย 1,200 – 1,500 กิโลแคลอรี คิดคาร์โบไฮเดรต 45 – 50 % ควรทานคาร์โบไฮเดรตประมาณ 135 – 195 กรัม ต่อวัน หรือ นับคาร์บได้ 9 – 15 คาร์บต่อวัน
มาลองแลกเปลี่ยนอาหารกับการนับคาร์บ 1 คาร์บ เท่ากับ ข้าว 1 ทัพพี ขนมปัง 1 แผ่น ผลไม้ 1 กำมื้อ น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ หรือนมจืด 1 กล่อง
ดังนั้นช่วงลดน้ำหนักแนะนำให้คุมคาร์บในช่วง 3 – 5 คาร์บต่อมื้อ และควรเลือกเป็นคาร์บดีจะช่วยในการดูแลน้ำตาลในเลือด และพลังงานไม่เกินจนสะสมเป็นไขมันในร่างกาย
สรุป
เห็นไหมว่าการเลือกคาร์บดี หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดน้ำหนัก เพราะคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนนั้นมีไฟเบอร์สูง ทำให้ดูดซึมช้าและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ช้า จึงทำให้อิ่มท้องนาน ดังนั้นเราไม่ควรงดคาร์โบไฮเดรต แค่เราเลือกชนิดคาร์โบไฮเดรตเป็นเชิงซ้อน ควบคุมปริมาณการกิน และเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เพราะยังไงร่างกายจำเป็นต้องได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต
แต่การลดน้ำหนักคงไม่ได้ทำแค่กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หรือคาร์บดีเพียงอย่างเดียว ต้องทำควบคู่กับการออกกำลังกายด้วย สำหรับใครที่กำลังเบื่อหรือไม่รู้จะเริ่มออกกำลังกายอย่างไร ให้ทาง Fit.Friend ช่วยออกแบบการออกกำลังเฉพาะบุคคล โดยเทรนเนอร์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำให้การลดน้ำหนักของคุณประสบผลสำเร็จ
อ้างอิง: หนังสือ “รู้จักคาร์บ รู้จักนับ ปรับสมดุล ควบคุมเบาหวาน” สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศๆไทย
สอบถามรายละเอียดเทรนเนอร์ส่วนตัวได้ที่
Add LINE: @fitfriendหรือ https://lin.ee/d9Mvonh